อิฐในมือช่าง

Blog

อิฐในมือช่าง

ธนกร ชาตรูปะเสวี

อิฐทุกก้อนย่อมมีธรรมชาติในตัวของมันเอง การนำอิฐมาใช้ในงานก่อสร้างหรือตกแต่งอาคารย่อมสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องมีการศึกษาข้อมูลเพื่อทำความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัสดุก่อนที่จะใช้ในงานก่อสร้างจริง จะเป็นการส่งเสริมคุณค่าของอิฐให้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้นยังเป็นการประหยัดงบประมาณไม่ให้สูญเสียไปจากความเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์และเป็นการยืดอายุการใช้งานของอิฐให้นานเท่านาน

ความรู้เกี่ยวกับอิฐด้านกายภาพสามารถหาได้จากผู้ผลิตโดยตรงแต่ความรู้ด้านการนำอิฐมาใช้งานนั้น ต้องเป็นช่างผู้ชำนาญการเป็นอย่างดีจึงจะให้คำแนะนำได้ถูกต้อง

ช่างพักตร์ ธนกร ชาตรูปะเสวี ผู้รับเหมาฝีมือสูงมากประสบการณ์ผู้เอาใจใส่ในการทำงานอย่างละเอียดทุกขั้นตอน และขยันที่จะค้นคว้าหาแนวทางต่างๆในการทำงาน เพื่อให้ได้ประสิทธิผลสูงสุด สวยที่สุด เรียบร้อยที่สุด และคงทนถาวรที่สุด ผู้ผ่านการทำงานให้กับสถาปนิกชั้นครู เช่นคุณองอาจ สาตรพันธุ์ มาเป็นเวลากว่า 30 ปี จะมาเปิดเผยเคล็ดลับในการทำงานกับอิฐในทุกๆ เรื่องที่ควรรู้ ในบรรทัดต่อจากนี้

ขั้นตอนในการก่ออิฐโชว์

ขั้นตอนแรก งานออกแบบ ต้องวางแผนในการออกแบบก่อน ผู้ออกแบบต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัสดุที่จะใช้ โดยเฉพาะเรื่องของขนาดและประเภทของอิฐ แล้วนำข้อมูลเหล่านี้มาคำนวณในแบบเพื่อให้ลงตัวได้พอดี เช่นคำนวณว่า พื้นที่มีขนาดกว้างยาวเท่าไหร่ สูงเท่าไหร่ อิฐที่จะใช้มีขนาดเท่าไหร่ เมื่อวางอีกขนาดที่ต้องการ บวกกับแนวร่องปูนยาแนวทุกด้านด้วยแล้ว จะต้องใช้อิฐจำนวนกี่ก้อน หากเหลือเศษอาจจะต้องปรับขนาดพื้นที่เพื่อให้ลงตัวพอดีจะเกิดความสวยงามและต่อเนื่อง แล้วนำมาปรับให้เข้าหากัน การที่ไม่ทำความเข้าใจเรื่องขนาดของอิฐก่อนจะทำให้เกิดปัญหาการวางอีกที่ไม่ลงตัว อาจจะต้องเหลือเศษทำให้ต้องตัดอิฐทิ้งไปเป็นจำนวนมาก

ขั้นตอนที่สอง การคำนวณปริมาณที่จะใช้ เมื่อได้ขนาดพื้นที่และทราบจำนวนอิฐที่จะต้องใช้อย่างแน่ใจแล้ว ในการสั่งอิฐแต่ละงานควรจะมีการสั่งเผื่อไว้เป็นจำนวนประมาณ 10% ของอิฐที่ต้องใช้ทั้งหมด เป็นการเผื่อสำหรับความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด เช่น ก่อผิดแบบต้องทุบทิ้งก่อใหม่ การที่จะสั่งอีกล็อตใหม่ให้สีเหมือนครั้งแรกนั้นเป็นไปได้ยากจึงควรมีการเผื่อไว้ตั้งแต่แรก

ขั้นตอนที่สาม การแช่อิฐ เมื่อนำอิฐมายังพื้นที่ที่จะทำการก่อสร้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นประเภทใด ก่อนอื่นจะต้องทำการแช่อิฐก่อน เพื่อให้อิฐดูดซึมน้ำเป็นเวลาประมาณ 1 คืน หลังจากนั้นแล้วนำอิฐที่แช่น้ำนั้นมาตากให้แห้งในที่ร่ม จนน้ำในอิฐระเหยออกไปในระดับที่เหมาะสม คือเมื่อใช้มือสัมผัสจะยังรู้สึกว่าหมาดๆอยู่ ไม่ได้แห้งจนเกินไปหรือเปียกชื้นเกินไปเพราะจะทำให้งานอิฐไม่แข็งแรงหรือแตกร้าวได้

ขั้นตอนที่สี่ การขึงเชือกเพื่อตั้งระดับ เมื่ออิฐแห้งได้ที่แล้วให้ขึงเชือกหรือเอ็นเป็นแนวทั้งแนวตั้งและแนวนอน เพื่อให้การก่ออิฐได้ระดับเสมอกันทั้งสองด้าน เชือกแนวนอนควรจะขึงไว้ทุกชั้นของแนวอิฐและขึงเชือกบนด้านบนของอิฐ ส่วนตามแนวตั้งควรจะตั้งที่ขอบของอิฐก้อนแรก และมีขึงไว้ทุกระยะความกว้าง 1 เมตรหรือประมาณอิฐ 5 ก้อน (รวมแนวร่องปูนด้วยแล้ว) เพื่อให้มีพื้นที่ในการทำงานที่คล่องตัว และควรจะมีการเช็คระดับแนวอิฐก่อเป็นระยะๆเพื่อให้ได้แนวสวยงาม

ในขั้นตอนนี้จะมีเทคนิคที่สำคัญคือการวางอิฐที่ควรจะวางใต้แนวเชือกที่ขึงไว้เสมออย่าวางสูงเกิน เพราะถ้าสูงเกินแล้วต้องเผื่อขึ้นไปเรื่อยๆ ในแถวบนสุดอาจจะไม่ได้เต็มก้อนอย่างที่คำนวณไว้ ต้องตัดอิฐเป็นเศษไปวางซึ่งจะทำให้ลดความเรียบร้อยสวยงามไป

ขั้นตอนที่ห้า การผสมปูนก่อ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด ความสวยงามความแข็งแรงของงานอิฐเกิดจากตรงนี้ ส่วนผสมของปูนก่อคือ 3:2 (ทรายสามส่วนปูนซีเมนต์ 2 ส่วน) และน้ำในปริมาณที่เหมาะสมไม่ทำให้ปูนข้นหรือเหลวเกินไป สำหรับอิฐโชว์แนวการผสมปูนตามสัดส่วนดังกล่าวเรียกว่า ปูนเค็ม เพื่อให้เกิดความเหนียวแต่มีเวลาในการเซ็ตตัวหรือแข็งตัวพอสำหรับการขยับอิฐให้ได้ระดับที่ต้องการ หากเป็นปูนสำหรับก่ออิฐมอญจะมีสัดส่วน 3:1 (ทราย 3 ส่วน ซีเมนต์ 1 ส่วนซึ่งปูนจะเหลวกว่า และต้องใช้ปริมาณมากกว่า เรียกว่า ปูนจืด )

ทรายที่ใช้ผสมควรเป็นทรายละเอียดที่เกิดจากการนำทรายหยาบมาร่อนบนตะแกรงให้ได้ความละเอียดพอสมควรไม่ถึงกับละเอียดมากเกินไปเพื่อเวลานำมาผสมจะมีผิวที่หยาบพอดีกลมกลืนกับผิวของอีกนั้น
ส่วนซีเมนต์ที่ใช้ผสมควรจะมีความเหนียวและทนทาน มีความยืดหยุ่นซึ่งจากประสบการณ์ของช่างจะนิยมใช้ปูนตราเสือเพราะตรงกับคุณสมบัติดังกล่าว เหมาะสำหรับก่ออิฐก่อโชว์เป็นอย่างดี

ขั้นตอนที่หก เทคนิคในการก่อ แบ่งเป็นขั้นตอนดังนี้

การแบ่งแนวอิฐก่อ อันดับแรกคือต้องแบ่งแนวให้เรียบร้อยเสียก่อนคือเฉลี่ยให้ลงตัวว่าแต่ละแถวต้องใช้อิฐกี่ก้อน (ทั้งตามตั้งและตามนอน) และควรจะมีแนวร่องปูนเท่าใด (อย่างต่ำ 1 เซนติเมตร แต่ไม่ควรเกิน 1.3 เซนติเมตร) งานอิฐที่ดีนั้นไม่ควรมีการตัดอิฐ นอกจากจะเจอช่องเจาะหรือส่วนของกำแพง ดังนั้นจึงควรมีการออกแบบไว้ก่อนให้ลงตัว

การยาแนวด้วยปูนก่อ สำหรับอิฐก่อโชว์เพื่อความสวยงามแล้วควรจะมีระยะห่างระหว่างอิฐแต่ละก้อนประมาณ 1 เซนติเมตร (หรือมากกว่าประมาณ 2-3 มิลลิเมตรก็พออนุโลมได้) เนื่องจากอิฐประเภทนี้มีความแกร่งและหนัก (ไม่หยุ่นตัวและเบาเหมือนอิฐมอญซึ่งจะต้องเว้นร่องไว้อย่างต่ำประมาณ 2 เซนติเมตร) อีกทั้งเนื้อปูนที่มีความลื่นพอสมควร เมื่อเวลาวางอิฐบนเนื้อปูนแล้วจะสามารถปรับเลื่อนไปมาเพื่อให้ได้แนวที่สวยงามได้ก่อนที่ปูนจะเซ็ตตัว (เรียกว่าการเลี้ยงร่อง) และเพื่อไม่ให้มีปัญหาปูนปลิ้นหรือล้นออกมาจากขอบอิฐ ซึ่งทำให้เกิดคราบหรือร่องที่ไม่สวย ควรจะวางปูนบนอิฐด้วยน้ำหนักมือที่พอดี

ไม่หนักจนเกินไปเหมือนการโปะปูนก่ออิฐมอญ แล้วให้เหลือเนื้อที่จากขอบอิฐด้านนอก (ส่วนที่จะโชว์)เข้าไปประมาณ 8 มิลลิเมตร เมื่อวางอิฐลงไปน้ำหนักอิฐจะกดทับให้ปูนออกมาเสมอขอบพอดีไม่ล้นออกมาควรเช็คร่องทุกๆระยะ 1 เมตร เพื่อไม่ให้แนวบิดเบี้ยวผิดสัดส่วนไป

การเซาะร่อง เมื่อก่อสำเร็จแล้วควรทิ้งไว้ให้ปูนเซ็ตตัวเสียก่อนแล้วจึงทำการเซาะร่องให้เรียบร้อย

เทคนิคอีกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับการยาแนวผนังอิฐคือ ตามธรรมชาติของอิฐ แม้จะก่อเสร็จเรียบร้อยแล้วก็อาจจะมีการขยายหรือหดตัวเล็กน้อยตามอุณหภูมิและสิ่งแวดล้อมได้ตลอดเวลา ซึ่งบางคนอาจจะมีการเผื่อสำหรับเรื่องนี้ไว้ด้วย เช่นหากเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ ทุกๆระยะ 5 เมตร เขาจะทำร่องเป็นรูปตัวยูเพื่อยาแนวด้วยซิลิโคนเพื่อการยืดหยุ่นจะได้ไม่เกิดปรากฏการณ์ของอิฐขยายตัวเบียดกันจนแตกได้

การทำเสาเอ็นหรือทับหลัง หากพื้นที่ที่จะทำการก่อมีขนาดใหญ่ควรจะมีเสาเอ็นหรือทับหลังซ่อนอยู่ด้านหลังของแนวอิฐก่อโชว์เพื่อช่วยในการรับน้ำหนักโดยปกติแล้วการทำทับหลังควรทำที่ระยะทุกๆ พื้นที่ 2 x 3 เมตร หรือ 6 ตารางเมตร

การทำความสะอาดคราบน้ำปูน ในบางครั้งอาจจะเกิดคราบน้ำปูนไหลลงมาเลอะเป็นรอยที่ผนังอย่าเพิ่งรีบทำความสะอาดทั้งๆที่ยังเปียกหรือเพิ่งจะก่อเสร็จหมาดๆ ควรจะทิ้งงานไว้ให้แห้งดีเสียก่อน (อาจจะประมาณหลังจากที่ก่อเสร็จแล้วครึ่งวันเช้าหลังจากพักเที่ยงเสร็จแล้วค่อยกลับมาทำความสะอาดก็ยังได้ให้ปูนเซ็ตตัวเสียก่อน) แล้วใช้ฟองน้ำชุบน้ำธรรมดาบิดให้หมาดๆ เช็ดที่รอยคราบนั้น เช็ดแล้วควรมีการเปลี่ยนน้ำใหม่แล้วเช็ดอีกหลายครั้ง ถ้าจะให้ดีควรเปลี่ยนน้ำใหม่และเช็ดให้ครบ 3 ครั้งเพื่อให้สะอาดจริงๆ ช่างบางคนไม่ทราบใช้น้ำเดิมเช็ดแล้วมาเช็ดอีก รอยคราบก็จะไม่มีทางหมดไปได้

นอกจากนั้นยังมีเทคนิค หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นเคล็ดลับในการก่อแบบพิเศษที่ช่างท่านนี้ได้คิดค้นขึ้นมาจากประสบการณ์ และยินดีถ่ายทอดให้รับทราบโดยทั่วกัน เพื่อจะได้ช่วยกันสร้างงานอิฐที่มีคุณค่ามากขึ้น น่าที่จะศึกษาไว้เป็นแนวทาง ดังต่อไปนี้

การก่ออิฐเป็นช่องโค้ง ขึ้นอยู่กับรัศมีของอิฐ หากมีรัศมีของช่องโค้งเท่ากับครึ่งหนึ่งของเส้นผ่าศูนย์กลาง (หมายถึงช่องโค้งมีส่วนโค้งเป็นรูปครึ่งวงกลมพอดี) อาจจะใช้การก่อแบบกำแพงรับน้ำหนักหรือ wall bearing โดยไม่จำเป็นต้องมีทับหลัง แต่หากรัศมีของช่องโค้งมีความยาวมากกว่าครึ่งหนึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการหล่อทับหลังคอนกรีตเพื่อช่วยดึงน้ำหนักของอิฐไว้ไม่ให้ตกลงมา

ทับหลังของช่องโค้ง คือการหล่อแบบหรือ mould สำหรับการหล่อคอนกรีตทับหลังเพื่อดึงอิฐไว้ไม่ให้ตกลงมา ก่อนที่จะเริ่มเรียงอิฐต้องเริ่มต้นจากคำนวณจากความโค้ง หาจุดศูนย์กลางของแนวโค้งเสียก่อนจากจุดนั้นจะเป็นจุดที่จะขึงเชือกให้อิฐแต่ละก้อนวางบนความโค้งให้ได้พอดี จากนั้นก็จะมีการร้อยเหล็กเข้าไปในก้อนอิฐแถวล่างสุดทุกก้อน เพื่อผูกกับโครงสร้างของแบบหล่อด้านบน เสร็จแล้วจึงเทคอนกรีตเพื่อยึดโครงสร้างทั้งหมดไว้ด้วยกัน โครงสร้างนี้เมื่อมองจากภายนอกจะไม่เห็นคานคอนกรีตเพราะอีกจะปิดทับไว้ ช่องโค้งก็จะออกมาสวยงาม

การก่ออิฐชนคาน หากคำนวณความสูงของอิฐบวกกับร่องปูนแล้วนำมาออกแบบให้ลงตัวในแบบก่อสร้างตั้งแต่ต้นก็จะไม่มีปัญหานี้ แต่หากไม่ลงตัวพอดีและไม่อยากตัดอีกให้เป็นเศษ ต้องใช้การเฉลี่ยที่ร่องยาแนวให้มีขนาดกว้างขึ้นเล็กน้อยจนกว่าจะวางอีกได้พอดีกับคาน

การก่ออิฐเข้ามุมสองด้าน เช่นการก่ออิฐรอบเสาหรือผนังที่ยื่นออกมา ก่อนอื่นต้องคำนวณขนาดอิฐที่จะใช้ก่อนแล้วจึงไปออกแบบขนาดเสาหรือผนังนั้น การก่อต้องก่อลักษณะวนไปเหมือนเข็มนาฬิกา และไม่ควรให้เห็นส่วนหัวของอิฐอยู่ในแถวเดียวกันทั้งสองด้านเพราะจะไม่สวยงาม

สีของอิฐที่ไม่เท่ากัน เมื่อได้อิฐมาจำนวนหนึ่งสำหรับพื้นที่งานหนึ่ง แต่ดูแล้วสีของอิฐล๊อตเดียวกันมีความแตกต่างกันมากจนดูเหมือนสีเพี้ยน แม้ว่าความเป็นจริงแล้วสีของอิฐแต่ละก้อนจะมีความแตกต่างกันอยู่แล้ว แต่หากแตกต่างจนเห็นได้ชัดเจนเช่นนี้หากก่อโดยไม่มีการวางแผนอาจเกิดความลักลั่นของสีไม่สวยงามดังนั้นก่อนทำการก่อควรจะมีการนำอิฐทั้งหมดมาแยกเป็นกองๆ ตามเฉดสีเสียก่อนตั้งแต่อ่อนสุดไปจนแก่สุด แล้วนำแต่ละกองมาคละกันให้ได้สัดส่วนเท่าๆกันสำหรับพื้นที่ 1 ตารางเมตร ถ้าจะให้ดีก็ควรเขียนหมายเลขกำกับไว้ที่ด้านหลังของอิฐแต่ละก้อนว่าควรจะอยู่ตำแหน่งไหน แล้วจึงก่อผนังจึงจะมีความกลมกลืนไม่ดูด่างพร้อย

ไม่ควรเคลือบอิฐด้วยน้ำมัน เป็นความเชื่อของคนทั่วไปที่ว่าถ้าเคลือบอีกด้วยน้ำมันจะทำให้มีความแวววาวและทนทานดี สำหรับส่วนตัวของช่างแล้วไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้ ในความเป็นจริงนั้นอิฐโชว์แนวมีความแกร่งและทนทานอยู่ได้เป็นร้อยปี การเคลือบอาจจะไปทำลายเนื้อแท้ของอิฐเสียมากกว่าเพราะอิฐที่ดีนั้นเมื่อมีการดูดซับน้ำเข้าไปต้องมีการคายน้ำออกมา หรือเรียกว่าอิฐหายใจได้ หากไปเคลือบน้ำมันหรือซิลิโคนทับไว้ก็เหมือนไปปิดกั้นการหายใจของอิฐ น้ำที่อยู่ภายในไม่สามารถระเหยออกมาได้ ผลก็คืออิฐจะมีสภาพเหมือนคนจมน้ำ เกิดเป็นรอยด่างหรือแตกร้าวจนไม่สามารถจะแก้ไขได้ เป็นเรื่องที่ต้องระวังให้ดีหากจะเคลือบก็ใช้เพียงแว็กซ์เคลือบทับบางๆ และขยันเช็ดก็จะเพียงพอและสวยงามดีแล้ว

หากเกิดปัญหาอิฐแตกร้าว ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นที่ผิวหน้าของอิฐ วิธีแก้ไขคือใช้สว่านหรือสิ่วสกัดผิวของอิฐก้อนที่แตกออกไปประมาณครึ่งก้อน ไม่จำเป็นต้องสกัดออกมาทั้งก้อน แล้วนำอิฐก้อนใหม่มาตัดให้บางแค่ครึ่งก้อน ผสมปูนใส่ลงไปในช่อง แล้วนำอิฐก้อนใหม่ที่ตัดแล้วมาปะทับที่ด้านหน้าของอิฐก้อนที่แตกแล้วแต่งแนวร่องให้ได้สีเสมอกัน

เรื่องสุดท้ายคือ การดูแลรักษา โดยทั่วไปแล้วอิฐก่อโชว์จะมีความแกร่งและทนทาน มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน จึงแทบไม่ต้องดูแลรักษาตลอดอายุของมัน ในบางพื้นที่ที่โดนแดดจัดสีของอิฐอาจจะซีดจางไปบ้างแต่นั่นคือธรรมชาติซึ่งในบางครั้งอาจทำให้ดูสวยกว่าเดิมด้วยซ้ำ

ทั้งหมดนี้คือประสบการณ์ที่สั่งสมมาอย่างยาวนานของช่างฝีมือท่านหนึ่งที่มีความรักและความเข้าใจในวัสดุนี้อย่างลึกซึ้ง และถ่ายทอดแก่ผู้อื่นให้เป็นวิทยาทานอย่างไม่หวงวิชา หากงานใดได้อิฐที่มีคุณภาพ มีความสวยงามด้วยสี ลวดลาย และรูปทรงแล้ว และได้ช่างที่มีความรู้และความชำนาญ ละเอียดรอบคอบเช่นนี้งานนั้นๆ จะมีคุณค่าเป็นที่จดจำไม่รู้ลืม

“อิฐนั้นเราอย่าไปทำอะไรเขาธรรมชาติก็คือธรรมชาตินึกถึงธรรมชาติเท่านั้นแหละก็จะไม่สวยมากไปกว่านี้อีกแล้วไม่ต้องไปแต่งเติมเขาก็เหมือนคนมีเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปปล่อยให้เป็นธรรมชาติอย่างนี้ดีที่สุดแล้ว”

จากหนังสือ ปั้นดิน Volume 2
จัดทำโดย บริษัท อ.ป.ก. ดาวคู่ (1988) จำกัด

เมนู